เงินสำรองฉุกเฉิน คืออะไร? ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร? | Ae Thanet

 

มนุษย์เราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ย่อมมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากน้อยต่างกัน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย และเมื่อเรามีรายได้ในแต่ละเดือน เราก็ต้องนำรายได้มาใช้จ่ายอยู่แล้ว 

วิกฤตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตอนไหนไม่มีใครรู้ เช่น การเจ็บป่วย/อุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ โรคระบาดอย่างเช่นตอนนี้ที่เรากำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในยุคที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ดี วิกฤตจะคลี่่คลายได้โดยเร็ว แต่ถ้าเกิดในยุคที่รัฐบาลบริหารจัดการไม่ดีแล้ว วิกฤตอาจจะอยู่กับเราได้นานหลายปีเลยครับ

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม ผลที่ตามมานั้นสามารถสร้างปัญหาทางการเงินให้กับเราทุกคนได้ หากส่งผลกระทบทำให้ขาดรายได้ ในขณะที่เรายังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในทุกๆ เดือน เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องเตรียมตัวรับมือกับวิกฤต ด้วยการมีเงินสำรองฉุกเฉิน

เงินสำรองฉุกเฉิน คืออะไร?

เงินสำรองฉุกเฉิน คือ เงินที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนนำมาใช้จ่ายได้ทันที เช่น เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ที่เราสามารถถอนออกมาใช้ได้ทันที หรืออาจจะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูงและสามารถนำมาใช้จ่ายได้ภายในระยะเวลา 1-2 วัน เช่น การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน


เงินฉุกเฉินควรสำรองเอาไว้เท่าไร? 

ก่อนอื่น เราต้องรู้ก่อนว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ โดยทำการประเมินค่าใช้จ่ายของตัวเอง โดยตั้งสมมติฐานว่า หากเรามีรายได้ในเดือนนั้นเราจะต้องเจอค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โดยเริ่มจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อน

ตัวอย่างการประเมินค่าใช้จ่ายรายเดือน

  • หนี้สินที่ต้องชำระแต่ละเดือน
    • ค่าที่อยู่อาศัย..........................................   เดือนละ 4,000 บาท
    • ค่าผ่อนรถ...............................................   เดือนละ 7,000 บาท
    • ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ ..   เดือนละ 1,500 บาท
  • ค่าใช้จ่ายที่บ้านและครอบครัว........................   เดือนละ 3,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเรา
    • ค่าอาหาร ................................................. เดือนละ 6,000 บาท
    • ค่าของใช้จำเป็น ...................................... เดือนละ 1,500 บาท
    • อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ............. เดือนละ 2,000 บาท
  • รวมทั้งสิ้น ........................................................ เดือนละ 25,000 บาท

เมื่อเราประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของตัวเราเองแล้ว จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า จะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเดือนละ 25,000 บาท เพื่อให้เราอยู่รอดได้หากเกิดวิกฤตต่างๆ ที่ทำให้เราขาดรายได้


สำรองเงินฉุกเฉินเอาไว้กี่เดือนดี?

หลังจากที่เราทำการประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และพอจะรู้ตัวเลขของเงินสำรองฉุกเฉินในหนึ่งเดือนของเราแล้ว แน่นอนว่าเราไม่ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงแค่ 1 เดือน เพราะเมื่อเกิดวิกฤตต่างๆ ในชีวิตขึ้นมา บางครั้งต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานกว่านั้น (กว่าที่เราจะกลับมามีรายได้อีกครั้ง) ตัวอย่างเช่น ตกงาน ถูกเลิกจ้าง ต้องไปสมัครเงินที่ใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการหางานทำและรอเงินเดือนออก

ในทางตรงกันข้าม เราก็ไม่ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินมากเกินไป เพราะจะทำให้เราเสียโอกาสที่จะนำเงินออมไปใช้ในการลงทุนระยะยาวที่สร้างผลตอบแทนทำให้เงินงอกเงยมากกว่า

จำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่เราควรเผื่อเอาไว้นั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความมั่นคงในสายอาชีพต่างๆ หรือ ขึ้นอยู่กับการประเมินประสบการณ์และมุมมองในการบริหารจัดการทางการเงินของตัวเอง  

ตัวอย่างเช่น

อาชีพข้าราชการ

อาชีพราชการเป็นอาชีพที่จัดว่ามีความมั่นคงสูง เพราะแหล่งรายได้ประจำมาจากรัฐบาล แม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำหรือเกิดวิกฤตต่างๆขึ้นมา ก็มักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบมาก หรือ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  ดังนั้นการสำรองเงินฉุกเฉินสามารถกำหนดว้ในระดับต่ำได้ เช่น สำรองเงินฉุกเฉินไว้ที่ 1-3 เดือน

จากกรณีตัวอย่าง ที่เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ประมาณ 25,000 - 75,000 บาท นั่นเอง


อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน 

อาชีพพนักงานบริษัทเอกชนจัดว่ามีความมั่นคงรองลงมาจากอาชีพราชการ เนื่องจากมีรายได้เป็นเงินเดือนประจำที่ค่อนข้างแน่นอน แต่ถ้าเกิดวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของบริษัทก็จะทำให้มีโอกาสถูกให้ออกจากงาน ต้องหางานใหม่ จึงควรสำรองเงินฉุกเฉินให้มากยิ่งขึ้น เช่น สำรองเงินฉุกเฉินไว้ที่ 3-6 เดือน

จากกรณีตัวอย่าง ที่เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ประมาณ 75,000 - 150,000 บาท นั่นเอง


อาชีพอิสระหรือ Freelance

อาชีพอิสระเราจะต้องเป็นนายตัวเอง รายได้จึงขึ้นอยู่กับความสามารถและปริมาณงานที่ทำ กรณีที่เกิดวิกฤตขึ้นมาจะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงสุด อาจขาดรายได้ยาวนานจนกว่าวิกฤตจะคลี่คลายหรือจนกว่าจะผันตัวไปทำงานอย่างอื่น ดังนั้น การทำอาชีพอิสระควรมีเงินสำรองสูงสุด เช่น สำรองเงินฉุกเฉินไว้ที่ 6 - 12 เดือน

จากกรณีตัวอย่าง ที่เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ประมาณ 150,000 - 300,000 บาท นั่นเอง

คำแนะนำเพิ่มเติม สมมติว่าเราจะสำรองเงินฉุกเฉิน 12 เดือน เราไม่จำเป็นที่จะต้องวางเงิน 12 เดือนของเราไว้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งก้อน เพราะจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยมาก ปัจจุบันแค่ 0.25% เองครับ เราอาจจะวางไว้เพียง 3 เดือน  อีก 3 เดือนอาจจะไปฝากประจำ 3 เดือนดอกเบี้ยสูง และอีก 6 เดือนที่เหลือเอาไปลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น


สรุป

สรุปโดยคร่าวๆ จะเห็นได้ว่า การสำรองเงินฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมเอาไว้เพื่อรองรับกับวิกฤตต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว เริ่มจากการคำนวณค่าใช้จ่ายของตัวเราเองในแต่ละเดือน จะทำให้เราทราบได้ว่าจะต้องสำรองเงินไว้ใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ และให้พิจารความมั่นคงสายอาชีพของเราเพื่อกำหนดว่าจะต้องสำรองเงินฉุกเฉินให้ยาวนานแค่ไหนให้เหมาะสมกับตัวเอง

สุดท้ายอยากจะฝากให้เพื่อนๆ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลให้ดี เพราะถ้าเราทุกคนมีรากฐานการเงินที่แข็งแรงแล้ว เราจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ครับ การมีเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอ จะช่วยให้เราสามารถผ่านวิกฤตต่างๆ ได้โดยที่เราไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินครับ


ถ้าบทความนี้เป็นประโยชน์ฝากแชร์ด้วยครับ ขอบคุณครับ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น