ถ้าวันนี้ฝันว่าสักวันจะต้องมีอิสระภาพทางการเงินให้ได้ !!! หรือ อยากจะหลุดพ้นจากงานประจำให้ได้!!! จะไปเป็นฟรีแลนซ์ หรือ ธุรกิจส่วนตัวก็ตาม จะลาขาดจากการเกาะกินเงินเดือน เลิกเฝ้ารอวันเงินเดือนออก
ก่อนอื่นเราจะต้องเริ่มต้นจากการฝึกนิสัยในการบริหารเงินให้เป็น เสมือนว่าตอนนี้เราไม่มีเงินเดือนประจำแล้วนะ รายได้ของเราอาจจะไม่แน่ไม่นอน บางเดือนมาก บางเดือนน้อย และเราจะต้องเริ่มวางแผนค่าใช้จ่ายได้แล้ว ว่าใน 1 เดือน เรามีค่าใช้จ่ายประจำเท่าไหร่ ต้องการเก็บเงินเท่าไหร่ สามเดือน หกเดือน หนึ่งปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้องมีเงินในบัญชีเท่าไหร่เพื่อให้อยู่รอดโดยไม่ขัดสน
บัญชีธนาคารช่วยจัดการเงินได้
ไหนๆ เราก็มีบัญชีธนาคารอยู่แล้ว อย่างน้อยๆ หนึ่งบัญชี หรือมากกว่านั้น บางคนอ่านบทความนี้จบอาจจะอยากไปเปิดบัญชีเพิ่มก็ได้ เพราะการเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารมันสะดวกกว่าเอาเงินใส่กระปุกฝังดินอยู่แล้ว ปลอดภัยกว่าเก็บเงินสดไว้ที่ตัวหรือไว้ที่บ้าน และยังได้ดอกเบี้ยธนาคารอีกด้วย การเปิดบัญชีธนาคารหลายๆ บัญชี จะช่วยให้เราแบ่งแยกเงินได้อย่างเป็นสัดเป็นส่วนมากยิ่งขึ้น ช่วยให้การบริหารเงินได้อย่างเป็นระเบียบ ไม่ปะปนกัน
บางคนใช้เงินแบบเดือนชนเดือน รอวันเงินเดือนออก แบบนี้สร้างตัวได้ยากครับ อาจเป็นเพราะการเก็บเงินไว้ในบัญชีเดียวกันหมด จะเกิดความรู้สึกว่า เรายังมีเงินในบัญชีอยู่ ยังใช้จ่ายได้เรื่อยๆ และยิ่งไปกว่านั้น หากใช้มากกว่าที่หามาได้ ใช้จ่ายโดยไร้สติ ขาดการวางแผน แบบนี้เงินเก็บจะค่อยๆ หายกลายเป็นศูนย์ได้เช่นกัน
ถึงจุดนี้แล้วคุณผู้อ่านน่าจะตระหนักถึงความสำคัญของการแบ่งบัญชีเป็นสัดส่วนแล้ว เราไปเรียนรู้ว่าควรวางแผนแบ่งบัญชีเงินของเราอย่างไร
บัญชีเงินเดือน/บัญชีเงินสำรองฉุกเฉิน
บัญชีเงินเดือนเปรียบเสมือนหัวใจหลัก เงินจะเข้ามาพักที่บัญชีนี้ก่อน ในอนาคตถ้าเราผันตัวไปเป็นฟรีแลนซ์ รับจ้างอิสระ หรือตอนนี้รับงานเสริมจะรับเงินเข้าบัญชีนี้ก็ได้ ซึ่งบัญชีนี้ เราควรดูแลเป็นพิเศษ ต้องควบคุมการเดิน statement ให้สวยๆ เผื่ออนาคตเราอยากกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ เราจะได้เอา statement (การเดินบัญชี) นี้ไปยื่นกู้กับธนาคาร
การเดินบัญชีธนาคารจะสวยได้ ต้องรู้จักการวางแผน พนักงานประจำจะมีเงินเดือนเข้ามาตรงเวลาในทุกๆ เดือนอยู่แล้วซึ่งทำให้เรามีแหล่งรายได้ที่น่าเชื่อถือ ส่วนฟรีแลนซ์ก็พยายามให้มีเงินเข้าสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน นอกจากนี้เราควรวางแผนการใช้จ่าย ค่อยๆ โอนออกไปใช้ ไม่ใช่เงินเดือนเข้าปุ๊ปก็โอนออกทัน ไม่ทันได้ข้ามคืน (ไม่ทันได้กินดอกเบี้ย) แบบนี้ธนาคารก็อาจจะมองว่าเราไม่มีการวางแผนการใช้เงิน
นอกจากนี้เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเก็บไว้ในบัญชีนี้ อาจจะสำรองไว้ที่ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็แล้วแต่ความมั่นคงในอาชีพครับ ซึ่งเงินสำรองเหล่านี้ จะช่วยให้เรามีชีวิตต่อไปได้ในยามที่เกิดวิกฤตที่ส่งผลทำให้เราขาดรายได้นั่นเอง
ผมได้เขียนบทความไว้เกี่ยวกับการสำรองเงินฉุกเฉิน สามารถอ่านได้ครับ
เคล็ดลับอีกอย่าง หากเลือกได้ให้ใช้บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีเงินสำรองฉุกเฉินเป็นบัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูงไว้ก่อน จะช่วยให้ดอกเบี้ยงอกเงยได้เร็ว แต่อย่าลืมว่าจะต้องมีสภาพคล่องสูง เมื่อมีเหตุให้ต้องใช้จะต้องสามารถถอนได้ทันที และไม่ควรทำ ATM เพราะมันจะทำให้ถอนเงินได้ง่ายเกินไป
บัญชีสำหรับใช้จ่ายประจำเดือนนั้นๆ
บัญชีนี้เปรียบเสมือนบัญชีด่านหน้า มีการใช้จ่ายในทุกวัน สามารถทำบัตร ATM ได้ แต่โดยส่วนตัวผมไม่แนะนำในการทำบัตร ATM เพราะมันมีค่าธรรมเนียมรายปีหลักร้อย ผมแนะนำให้สมัครใช้แอปพลิเคชันของธนาคารมากกว่า เช็คยอดเงิน โอน จ่ายบิลได้ง่ายกว่า ไม่ต้องพกเงินสดเยอะก็จะช่วยให้เราปลอดภัยด้วย
ควรวางแผนการใช้จ่ายไปเลยว่าในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แล้วแบ่งโอนมาเป็นก้อนๆ จากบัญชีเงินเดือน ยกตัวอย่างเช่น ผมจะโอนเงินจากบัญชีเงินเดือนมาบัญชีสำหรับใช้จ่ายในวันที่ 1 วันที่ 11 และวันที่ 21 ของทุกๆ เดือน เป็นจำนวนเงินที่ผมได้คำนวณจัดสรรไว้เป็นอย่างดีแล้ว ทำแบบนี้จนเป็นนิสัยครับ การแบ่งโอนแบบนี้ ช่วยให้ผมมีเงินสำหรับใช้จ่ายได้ตลอดทั้งเดือน หมดปัญหาการกินมาม่าสิ้นเดือนไปเลยครับ
ถ้าเดือนไหนใช้เงินไม่หมดก็ให้เก็บสะสมไปเรื่อยๆ อยู่ภายในบัญชีนั้น ด้วยวิธีนี้จะทำให้การใช้จ่ายของเราไม่ปะปนกับบัญชีเงินเดือนแน่นอน
บัญชีเงินออม/บัญชีลงทุน
บัญชีนี้จะมองไปไกลยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การสำรองเงินฉุกเฉินแล้ว แต่มองไปถึงการเกษียณ การลงทุนระยะยาวกันเลยทีเดียว
การเปิดบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี ก็เป็นเทคนิดที่น่าสนใจ ผมก็เคยทำ ได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป และยังเป็นการสร้างวินัยให้ผมต้องออมเงินในทุกๆ เดือนด้วยครับ (แล้วแต่ธนาคาร มีตั้งแต่ฝากประจำเดือนละ 1,000 บาท ไปจนถึงเดือนละ 10,000 บาทขึ้นไป) จุดนี้จะช่วยให้เราสร้างเงินก้อนได้ไว
การเปิดบัญชีลงทุน /พอร์ตการลงทุน ก็เป็นอีกขั้นของการต่อยอดความมั่งคั่ง เป็นการเอาเงินก้อนที่เราสะสมมาลงทุนระยะยาว เพื่อวางแผนเกษียณ อย่างผมเองจะเน้นออมในหุ้น และในอนาคตก็จะไปลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนรวมต่างๆ เพิ่มเติมด้วยครับ เป็นการกระจายความเสี่ยง
บัญชีเงินออมพิเศษสำหรับกิจกรรมพิเศษ
เป็นบัญชีสุดท้ายที่จะพูดถึง จะมีหรือไม่มีก็ได้ ตามความสบายใจเลยครับ บัญชีนี้เราทำขึ้นมาเพื่อแยกออกมาจากบัญชีใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น
- บัญชีเงินฝากสำหรับการบำรุงรักษารถยนต์
- บัญชีเงินออมสำหรับท่องเที่ยว
- บัญชีเงินออมสำหรับซื้อของขวัญชิ้นใหญ่
0 ความคิดเห็น