สำหรับผู้ใช้รถมือใหม่ นอกจะต้องเสียค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถยนต์ ค่าประกันรถยนต์รายปีแล้ว เราจะต้องดำเนินการเสียภาษีรถยนต์รายปีด้วย
"การต่อภาษีรถยนต์" หรือ "การต่อทะเบียนรถยนต์" เป็นสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย และจะต้องทำในทุกๆ ปี เมื่อเรามีรถยนต์ โดยสามารถต่อล่วงหน้าได้ก่อนที่ทะเบียนจะหมดอายุไม่เกิน 3 เดือน หากเสียภาษีล้าช้าจะถูกปรับเดือนละ 1% ของราคาภาษี หากขาดชำระติดต่อกันนาน 3 ปี รถจะถูกระงับการใช้ทะเบียนและต้องทำเรื่องขอทะเบียนใหม่อีกครั้งซึ่งเมื่อเราเสียภาษีประจำปีแล้ว จะได้สติ๊กเกอร์มาไว้แปะหน้ารถ ตรงนี้เราต้องคอยสังเกตและจำว่า รถยนต์ของเราทะเบียนจะหมดอายุเดือนไหน ปีไหน และควรดำเนินการต่ออายุทะเบียนตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ
บทความนี้จะมาเล่า วิธีการ ต่อภาษีรถยนต์ ปีแรก กรณีเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคาร สำหรับมือใหม่ แบบง่ายๆ ไหนๆ เราก็เป็นลูกค้าเช่าซื้อกับธนาคารแล้ว เราก็ใช้ธนาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ และด้วยความที่เราเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคาร (ผ่อนค่างวดรถยนต์กับธนาคาร) และธนาคารเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ ตรงนี้ธนาคารจะดูแล มีจดหมายแจ้งเตือนมายังผู้เช่าซื้อก่อนอยู่แล้วครับ ดังนั้นผมจะแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหัวข้อ ๆ ดังนี้
ขั้นตอนการชำระค่า พ.ร.บ. กับธนาคาร / ซื้อ พ.ร.บ. ออนไลน์ด้วยตนเอง
พ.ร.บ. หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คือ กฎหมายที่บังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกจะต้องทำไว้เป็นหลักประกันให้กับคนในรถทุกคัน หรือบางคนจะเรียกว่า "ประกันภาคบังคับ" ซึ่งเท่ากับว่าผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้รับคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาลอันเกิดจากอุบัติเหตุ หรือ การประสบภัยจากรถในรูปแบบต่าง ๆ (ค่ารักษาพยาบาล 80,00 บาท/คน กรณีเสียชีวิต 500,000 บาท/คน *โปรดศึกษารายละเอียดจากตารางกรรมธรรม์) ซึ่ง พ.ร.บ. จะคุ้มครองแค่คน แต่ไม่คุ้มครองรถ ถ้าหากเพื่อนๆ ต้องการคุ้มครองรถจะต้องซื้อประกันรถยนต์ภาคสมัครใจเพิ่มนั่นเอง
ค่า พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์เก๋ง 646 บาท / รถยนต์กระบะ 968 บาท / รถตู้ส่วนบุคคล 1,183 บาท
ทิพยประกันภัย TIP INSURE
TIP INSURE เว็บไซต์ขาย ประกันภัยรถยนต์ออนไลน์ จากทิพยประกันภัย ราคาถูก ซื้อง่าย ซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง มั่นคงด้วยภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีแบบประกันภัยรถยนต์ให้เลือกมากมาย
ขั้นตอนการชำระค่าภาษีรถยนต์
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ผ่อนค่างวดรถกับทางธนาคาร ผมแนะนำให้ชำระค่าภาษีกับธนาคาร ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ค่าภาษีที่ธนาคารเรีกยเก็บจากเรานั้น (ดูได้จาก Bill Payment ที่ธนาคารส่งมาให้) ตรงกับค่าภาษีที่กรมขนส่งทางบกเรียกเก็บเลยครับ นั่นหมายความว่าธนาคารไม่ได้ชาร์จเงินเพิ่มจากผมเลย (มีเศษสตางค์นิดหน่อยที่ธนาคารปัดขึ้น)
ถามว่าเราไม่ชำระค่าภาษีกับธนาคารได้ไหม? ผมลองศึกษาวิธีการชำระค่าภาษีรถยนต์ผ่าน 'บริการเลื่อนล้อต่อภาษี' ของกรมขนส่งทางบก พบว่าเราจะต้องเสียเวลาขับรถไป แล้วก็ต้องเตรียมเอกสารประกอบการต่อภาษีไปด้วย (เอกสารประกอบการต่อภาษีจะกล่าวในหัวข้อถัดไปครับ)
หรือ การต่อภาษีออนไลน์ผ่านทางระบบ e-service กรมขนส่งทางบก ซึ่งเราต้องสมัครบัญชีผู้ใช้งานก่อน จึงจะสามารถดำเนินการต่อภาษีภายในระบบได้ แต่ก็พบว่ามีค่าจัดส่งสติ๊กเกอร์และเอกสารหลักฐานแสดงการชำระภาษีมาที่บ้านของเราประมาณ 30 บาท (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต)
คิดไปคิดมาผมเลยชำระค่าภาษีกับธนาคารดีกว่า ซึ่งให้ธนาคารทำให้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของผมในขณะนั้น แล้วก็ใช้ Shopee Pay สแกนจ่าย ใช้คูปอง Shopee Coin นู้นนี่นั้นมาเป็นส่วนลด ก็ช่วยลดค่าภาษีได้ไปอีก 55+
ขั้นตอนการส่งเอกสารการต่อภาษีให้กับธนาคาร
รายการเอกสารหลักฐานที่ธนาคารขอให้ผมจัดส่ง สำหรับให้ธนาคารไปดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีที่กรมขนส่งทางบก มีดังนี้
- ตารางกรรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) พร้อมส่วนหาง (ส่วนหางเป็นส่วนที่สำคัญอย่าให้หาย) ตรงนี้ผมใช้ไฟล์กรรมธรรม์ที่ได้รับทางอีเมลจากบริษัทประกันครับ
- หลักฐานการชำระค่าภาษี ธนาคารไม่ได้ขอแต่ผมให้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราชำระค่าภาษีให้กับธนาคารแล้วนะ
ในบางกรณีอาจจะถูกเรียกเอกสารเพิ่ม เช่น
- กรณีรถเกิน 7 ปี จะต้องมีเอกสารรายงานผลการตรวจสภาพรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ฉบับจริง ซึ่งต้องส่งไปรษณีย์ไปให้ธนาคาร ซึ่งตอนนั้นถ้าผมต้องส่งเอกสารตัวนี้ให้ธนาคาร อาจจะต้องพิจารณาต่อภาษีด้วยตนเอง ถ้าทำได้นะครับ
- กรณีติดก๊าซ NGV/LPG ต้องใช้หนังสือรับรองการตรวจและทดสอบจากวิศวกรรม (เอกสารอายุไม่เกิน 20 วัน นับจากวันตรวจและทดสอบ) ฉบับจริงทั้งชุด ซึ่งต้องส่งไปรษณีย์ไปให้ธนาคารเช่นกัน
เอกสารที่ใช้ต่อภาษีอีกตัว คือ สำเนาทะเบียนรถ ซึ่งธนาคารไม่ได้ต้องการเอกสารตัวนี้จากเรา เพราะธนาคารมีเล่มทะเบียนรถอยู่แล้วครับ แต่ถ้าเพื่อนๆ จะไปต่อภาษีด้วยตนเอง จะต้องมีสำเนาทะเบียนรถไปด้วย
ได้รับสติ๊กเกอร์ป้ายภาษี และเอกสารหลักฐานการเสียภาษี
หลังจากที่ธนาคารดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ที่กรมขนส่งทางบกให้เราเรียบร้อยแล้ว ธนาคารจะจัดส่งสติ๊กเกอร์ป้ายภาษีและใบเสร็จรับเงินของกรมขนส่งทางบกมาให้เราที่บ้าน ให้เรานำสติ๊กเกอร์ป้ายภาษีไปแปะที่หน้ารถ เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการต่อภาษีครับ
มือใหม่ ปีแรกจะรู้สึกงงๆ ทำตัวไม่ถูกครับ แต่พอผ่านปีแรกไปได้ จะเริ่มเข้าใจกระบวนการ วิธีการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี มากยิ่งขึ้น ผมจึงเอาประสบการณ์ต่อภาษีมาเขียนใส่บล็อกของผมไว้ เพื่อที่จะได้ไว้อ่านเองด้วย และเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ท่านอื่น ๆ ด้วย
0 ความคิดเห็น