วิกฤตโควิด 19 อย่าจ่ายหนี้บัตรเครดิต แบบจ่ายขั้นต่ำ เป็นอันขาด!!! รู้ทันการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต | Ae Thanet




สวัสดีครับทุกคน ตอนนี้ก็กลางเดือน ก.ค. ปี 2564 ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยก็ปาไปปีครึ่งแล้ว ซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจบลงตอนไหน ส่วนการแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้น ไม่ขอเอ่ยดีกว่า เชื่อว่าคนที่ตามข่าวทุกวันตามโซเชียลคงรู้ดีอยู่แล้ว

และตอนนี้รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ 10 จังหวัดเป็นเวลา 14 วัน เพื่อคุมโควิด อีกแล้วครับทุกคน T.T สิ่งที่น่าห่วงคือ ร้านค้า กิจการ SME รายย่อย เขาร้องกันแล้วว่าไม่ได้รับเงินเยียวยา ต้องปิดกิจการ ซึ่งมันแย่มากๆ ทุกคนลองคิดดูนะ พวกเขาโดนล็อกดาวน์กันหลายรอบ รายได้ลดลงหรือไม่มีเลย แต่ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน ถ้าเขาต้องปิดกิจการไป พนักงานกี่ชิวิตที่ต้องตกงาน T.T

ในส่วนของมนุษย์เงินเดือนนั้น โอเค สิ้นเดือนนี้คุณยังมีเงินเดือนอยู่ แต่เชื่อว่าหลายๆ คนเริ่มหวั่นๆ แล้วว่า เอ๊ะ จะโดนเลิกจ้างตอนไหนนะ? หรือ จะโดน Leave without pay (หยุดงานแบบไม่จ่ายเงินเดือน) หรือ จะได้เงินเดือนครึ่งเดียว? ซึ่งใจเต้นกันตลอดเวลา

สถานะเงินในกระเป๋าสั่นคลอนขนาดนี้ แต่รายจ่ายช่างไม่มีความปราณีกันเลย จัดหนักมากทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน บิลค่าน้ำค่าไฟและอื่นๆ อีกเพียบ หลายคนหยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า "บัตรเครดิต" มาช่วยต่อลมหายใจก่อ

ถ้าใครที่ใช้บัตรเครดิตไม่เป็นละก็ คุณอาจจะหลวมตัวเข้าสู่วงจรหนี้บัตรเครดิตที่ยากจะหลุดพ้น บางคนยังไม่รู้เลยว่าเจ้าบัตรเครดิตมันคำนวณดอกเบี้ยอย่างไร? หรือมีความเข้าใจที่ผิดพลาด (จากธนาคาร) แต่เราไม่สามารถปฏิเสธเงื่อนไขของธนาคารได้ เพราะตอนสมัครเราเซ็นใบสมัครไว้แล้ว ดังนั้น สละเวลอ่านบทความนี้ให้จบสักนิด จะได้มีความใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยธนาคารมายิ่งขึ้น


ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คืออะไร?

ดอกเบี้ยบัตรเครดิตต คือ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตเลือกที่จะชำระคืนค่าสินค้าหรือบริการไม่เต็มจำนวน ไม่ว่าจะเลือกจ่ายขั้นต่ำ หรือจ่ายครบแต่ล้าช้าจากกำหนด ล้วนเป็นที่มาของดอกเบี้ยบัตรเครดิตตทั้งสิ้น


ดอกเบี้ยบัตรเครดิต เกิดขึ้นตอนไหน?

ก่อนอื่นทุกคนต้องรู้ก่อนว่าบัตรเครดิตแต่ละใบจะมีเงื่อนไขปลอดดอกเบี้ย หรือ ดอกเบี้ย 0% อยู่ในระยะเวลา 30 วัน 45 วัน แล้วแต่บัตรเครดิต ซึ่งถ้าเราจ่ายตรงเวลา ครบตามจำนวน จะไม่เกิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต แต่ถ้าเราเลือกทำสิ่งเหล่านี้ ย่อมเกิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตแน่ๆ ได้แก่
  1. จ่ายตรงเวลา แต่ไม่เต็มจำนวน หรือ ที่เรียกว่า จ่ายขั้นต่ำ 10% ของยอดหนี้บัตรเครดิต เป็นการทยอยผ่อนชำระที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขปลอดดอกเบี้ย
  2. จ่ายเต็มจำนวน แต่ไม่ตรงเวลา แบบนี้ก็ไม่รอดถูกคิดดอกเบี้ยของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันที่ชำระคืนครบทั้งหมด
  3. กดเงินสดจากวงเงินบัตรเครดิต เงินส่วนนี้จะถูกคิดดอกเบี้ยทันทีที่เงินออกจากตู้


ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คิดในอัตราเท่าไหร่?

โดยทั่วไปบัตรเครดิตมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 18% ต่อปี (เงื่อนไขบางธนาคารอาจจะแตกต่างกันออกไป กรุณาสอบถามธนาคารหรือดูใบใบแจ้งยอดรายการบัตรเครดิต)

แต่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ โดยให้ปรับเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินจาก 18% เป็น 16% นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป


จ่ายไม่เต็มจำนวน หรือ จ่ายขั้นต่ำ ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คิดอย่างไร?

พอใบแจ้งยอดหนี้บัตรเครดิตส่งมาที่บ้าน แล้วพบว่าธนาคารใจดีให้ชำระขั้นต่ำ 10% แล้วเราก็เลือกจ่ายแบบขั้นต่ำ เรากำลังพลาดเข้าสู่วงจรหนี้บัตรเครดิตที่ยากจะหลุดพ้น

ในชีวิตจริงเราไม่จำเป็นต้องมานั่งกดเครื่องคิดเลขเพื่อคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตแต่อย่างไร เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิต ธนาคารเขาจะคำนวณให้เราเสร็จสรรพ  ทำให้หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร แล้วดอกเบี้ยมันก็จะทบกันไปเรื่อยๆ ทุกเดือนๆ จากหนี้หลักพัน สู่หลักหมื่น หลักแสนได้ไม่ยาก ดังนั้น เราจะมาลองทำความเข้าใจวิธีการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตกันสักนิด เพื่อให้เข้าใจ Concept คร่าวๆ

สถานการณ์ตัวอย่าง
ผมมีบัตรเครดิต 1 ใบ ที่สรุปค่าใช้จ่ายทุกวันที่ 5 ของเดือน และกำหนดให้ชำระเงินในวันที่ 25 ของเดือน ซึ่งมีอัตรดอกเบี้ย 16%

วันที่ 1 ม.ค. รูดซื้อสินค้า A จำนวน 8,000 บาท
วันที่ 20 ม.ค. รูดซื้อสินค้า B จำนวน 2,000 บาท
วันที่ 5 ก.พ. ธนาคารทำการสรุปยอดค่าใช้จ่ายและจัดส่งใบแจ้งหนี้ให้ชำระเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท
วันที่ 25 ก.พ. เป็นวันกำหนดชำระเงิน และเราเลือกชำระเงินขั้นต่ำที่ 1,000 บาท และมียอดค้างชำระ 9,000 บาท

คำถามคือ รอบบิลถัดไปวันที่ 5 มี.ค. ผมจะมียอดค้างชำระรวมดอกเบี้ยเท่าไหร่?

การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะแยกคำนวณเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 คิดจาก "ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด" 

คำนวณตั้งแต่ "วันบันทึกรายการ" ถึง "วันสรุปยอดค่าใช้จ่าย" คิดแยกทีละรายการตามที่รูด

ดอกเบี้ยส่วนที่ 1 = (ค่าสินค้าและบริการ X อัตราดอกเบี้ยต่อปี X จำนวนวันจากวันที่ทำรายการถึงวันที่สรุปยอดบัญชี) /จำนวนวันใน 1 ปี

ดอกเบี้ย สินค้า A = (8,000 x 16% x 36 วัน) / 365 = 126.25 บาท ( 1 ม.ค. - 5 ก.พ.)
ดอกเบี้ย สินค้า B = (2,000 x 16% x 17 วัน) / 365 = 14.90 บาท ( 20 ม.ค. - 5 ก.พ.)
รวมดอกเบี้ยส่วนที่ 1 คือ 126.25 + 14.90 = 141.15 บาท

ส่วนที่ 2 คิดจาก "ยอดคงค้าง" 

คำนวณตั้งแต่ "วันที่ชำระขั้นต่ำ" ถึง "วันสรุปยอดเดือนถัดไป" คิดรวมยอดคงข้าง

ดอกเบี้ยส่วนที่ 2 = (ยอดคงค้าง X อัตราดอกเบี้ยต่อปี X จำนวนวันจากวันที่ชำระคืนบางส่วนถึงวันที่สรุปยอดบัญชี) /จำนวนวันใน 1 ปี

ดอกเบี้ยส่วนที่ 2 = (9,000 x 16% x 9 วัน) / 365 = 35.51 บาท ( 25 ก.พ. - 5 มี.ค.)

ดังนั้น รอบบิลวันที่ 5 มี.ค. จะถูกเรียกเก็บยอดคงค้างรวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 9,000 + 141.15 + 35.51 = 9,176.66 บาท (ดอกเบี้ยตั้ง 176.66 บาทเลยครับ)

สมมติ ต่อมาวันครบกำหนดชำระวันที่ 25 มี.ค. ผมรีบหาเงินมาจ่ายเต็มจำนวน คือ 9,176.66 บาท แบบนี้จบไหม

คำตอบคือยังไม่จบครับ เพราะรอบบิลถัดไป วันที่ 5 เม.ย. ยังมียอดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมค้างอีก (9,000 x 16% x 20 วัน) / 365 = 78.90 บาท ( 6 มี.ค. - 25 มี.ค.)

รวมผมต้องจายดอกเบี้ยทั้งหมด 176.66 + 78.90 = 255.56 บาท

สรุป

จะเห็นได้ว่าการคิดดอกเบี้ยของบัตรเครดิตเรียกว่าเอาทุกเม็ด เอาจนถึงวันสุดท้ายที่ชำระครบเต็มจำนวน ซึ่งถ้าเราเลือกผ่อนขั้นต่ำไปเรื่อยๆ เราก็จะต้องเสียดอกเบี้ยวนไปเรื่อยๆ เป็นวงจรหนี้ที่ยากจะหลุดพัน ยังไม่นับรวมกับการรูดซื้อสินค้าเพิ่มในระหว่างที่เรายังไม่ปิดหนี้เก่า เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจ่ายขั้นต่ำ และระหว่างที่มียอดค้างชำระควรหลีกเลี่ยงการรูดบัตรเครดิตเพิ่ม เพราะจะไม่อยู่ในเงื่อนไขการปลอดภาษี (รายละเอียดแต่ละบัตรอาจแตกต่างกันไป กรุณาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากธนาคาร)

เมื่อใดก็ตามที่เราเลือกจ่ายขั้นต่ำ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะคิดตั้งแต่วันที่เรารูดซื้อสินค้าทีละรายการๆ จากนั้นยอดคงค้างที่เหลือจากการจ่ายขั้นต่ำ จะถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระต่อไปเรื่อยๆ ไปทีละรอบบิลจนกว่าจะชำระยอดคงค้างและดอกเบี้ยจนครบ เป็นไปในลักษณะดอกเบี้ยทบต้น 

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้เขียนมาเพื่อต่อต้านการใช้บัตรเครดิต เพียงแต่จะเตือนให้ระมัดระวังการใช้งาน ยิ่งในสถานการณ์ Covid-19 เช่นนี้แล้ว ถ้าเรารูดซื้อของโดยไม่จัดการความเสี่ยงในกรณีที่อาจจะตกงาน ไม่มีเงินจ่าย แล้วหันไปจ่ายขั้นต่ำ จะหลวมตัวเข้าสู่วงจรหนี้บัตรเครดิตโดยที่ไม่รู้ตัวได้

ใช้บัตรเครดิตเท่ากับเงินสดที่เรามี ยังไงก็ไม่เป็นหนี้บัตรเครดิตแน่นอน

จริงๆ แล้วถ้าเราใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธี จะได้รับความสะดวกสะบาย (ไม่ต้องถือเงินสดเยอะ) ทุกการใช้จ่ายจะได้รับแต้มหรือเครดิตเงินคืนอีกด้วย หรือโปรผ่อน 0% นาน 10 เดือน ก็ช่วยให้สามารถซื้อของใหญ่ๆ ได้ หรือ จะส่วนลดพิเศษอีกมากมาย ซึ่งตรงนี้ผมชอบมาก สามารถนำไปต่อยอดอะไรๆ ได้เยอะ ใช้จ่ายทั้งทีก็ต้องมีอะไรกลับคืนมาบ้างถูกไหมครับ


บัตรเครดิตที่คุณอาจสนใจ
บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม สุดยอดบัตรเครดิตคืนเงิน บัตรเครดิตคืนเงินที่ดีที่สุด ให้คุณได้รับเงินคืนทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ช่วยคุณประหยัดและคุ้มค่าในทุกการใช้จ่าย คืนสิ่งดีๆทุกวัน ยิ่งใช้ยิ่งได้คืน

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม


บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด สะสมเเต้มเพื่อเเลกของรางวัลกว่า 300 รายการ ฟรีค่าธรรมเนียมรายปี เมื่อยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ 100,000 บาทขึ้นไปต่อ 12 รอบบัญชี
บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด




แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น