ผู้ฝากเงินกับธนาคาร จะต้องรู้ เพราะตอนนี้ "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" ได้ประกาศว่าจะลดวงเงิน "คุ้มครองเงินฝาก" จากเดิมคุ้มครองที่ 5 ล้านบาทเหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นวงเงินที่กำหนดตามกฏหมาย โดยจะเริ่มมีผลในวันที่ 11 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คืออะไร?
หลายคนอาจจะสงสัยว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากคืออะไร? มีหน่วยงานนี้อยู่ด้วยหรอ? วันนี้มารู้จักไปพร้อมๆ กันครับ
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ตาม พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อาจจะไม่ได้เข้าถึงข่าวสารทางการเงินที่เพียงพอ หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างรวดเร็วภายใต้วงเงินคุ้มครองที่กำหนดไว้ตามกฏหมาย ส่วนเงินฝากที่มีจำนวนเงินเกินวงเงินคุ้มครอง จะได้รับคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ
หน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
หน้าที่หลักๆ ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีดังนี้
1. เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนคุ้มครองเงินฝากนั่นเอง เผื่อสถาบันการเงินใดถูกปิด จะได้มีเงินจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงินและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
2. คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน เมื่อใดที่สถาบันการเงินถูกปิด สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากโดยเร็วตามวงเงินที่กำหนด โดยหลังวันที่ 11 ส.ค. 2564 วงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท ต่อผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน
3. ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิด และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชีจากสถาบันการเงินที่ถูกปิด จ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากในกรณีที่มีเงินฝากเกินวงเงินที่กำหนด
ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร? หากวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท
ย่อหน้านี้ต้องบอกก่อนว่าเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลครับ จากข้อมูลข้างต้น นับจากวันที่ 11 ส.ค. 2564 นี้เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาทลดเหลือ 1 ล้านบาท เราในฐานผู้ฝากเงิน จะต้องทำความเข้าใจก่อน ดังนี้
- วงเงินต่อผู้ฝาก หมายความว่า ถ้าคุณฝากเงินกับสถาบันการเงิน A คุณจะมีกี่บัญชี กี่ประเภทก็ตามแต่ รวมทุกบัญชีแล้วจะคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ต่อสถาบัน วงเงิน 1 ล้านบาท เป็นวงเงินต่อสถาบันการเงิน ดังนั้น คุณจะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน
สิ่งที่คุณควรทำ คือ การกระจายเงินฝากไปยังสถาบันการเงินต่างๆ โดยแต่ละสถาบันการเงินจะฝากรวมไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท (ไม่เกินวงเงินคุ้มครองนั้นเอง ) ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเวลาที่สถาบันการเงินถูกปิด คุณจะได้รับเงินฝากคืนอย่างรวดเร็วจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และยังถือเป็นการกระจายเงินฝากไปอีกด้วย
ถ้าวางเงินไว้กับสถาบันการเงิน A มากกว่า 1 ล้านบาท แล้วสถาบันการเงิน A ถูกปิดลง จะเป็นไรไหม? ก็ต้องบอกก่อนว่า คุณจะได้รับเงินคืน 1 ล้านบาท ภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนดจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากครับ ส่วนเงินที่เกินจากวงเงินคุ้มครองคุณต้องรอ รอให้สถาบันการเงินทำการชำระบัญชีกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากก่อน แล้วสถาบันคุ้มครองเงินฝากก็จะจ่ายคืนให้คุณครับ ซึ่งตรงนี้ผมยังไม่พบข้อมูลว่าจะได้ครบเต็มจำนวนไหมนะ
การชำระบัญชี คือ การชำระสะสางกิจการงานของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้เสร็จสิ้น ติดตามทวงถามหนี้ของลูกหนี้และดำเนินคดีความต่างๆ รวมทั้งรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของสถาบันการเงินนั้นออกจำหน่าย และจัดสรรเงินให้กับบรรดาเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินนั้นต่อไป
ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือ เงินฝากประเภทใด ที่ได้รับการคุ้มครอง
ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เป็นเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ในปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่
- เงินฝากกระแสรายวัน
- เงินฝากออมทรัพย์
- เงินฝากประจำ
- บัตรเงินฝาก
- ใบรับฝากเงิน
ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือ เงินฝากประเภทใด ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากประเภทที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น
- เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
- เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF)
- เงินฝากในสหกรณ์
- แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน
- เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
- ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน
อย่างไรก็ตาม การฝากเงิน กินดอกเบี้ยก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ผู้ลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจ และควรหาวิธีบริหารจัดการความเสี่ยง กฏหมายมีมาเพื่อคุ้มครองเงินฝาก หากเรามีความรู้ว่าวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท ก็ควรบริหารกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายเงินฝากไว้ตามสถาบันการเงินต่างๆ เราก็ย่อมได้รับความคุ้มครองทันทีหากสถาบันการเงินใดๆ ถูกปิดกิจการ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ฝากแชร์ด้วยครับ
ที่มา
- บทบาท หน้าที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
- ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง
- ถาม-ตอบเกี่ยวกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
0 ความคิดเห็น